Archive | September 2012

ลบจุด รอยแผลเป็น

ลบจุดผิด ปิดรูขน แผลเป็นหาย ‘แผลนูน-แผลหลุม’ เป็นที่ผิว เจ็บที่ใจ

ใครๆ ก็เคยเป็นแผลด้วยกันทั้งนั้น แผลที่เป็นแล้วหายไป จะให้เป็นอีกสักกี่รอบก็ไม่มียั่น แต่ถ้าเป็นแล้วกลายเป็นแผลเป็นอยู่โยงคงไว้บนผิว เป็นรอยนูน หรือหลุมแผลเนี่ยซิ ถึงจะเป็นที่ผิว แต่มันสร้างความเจ็บใจเสียทุกครั้งที่เห็น!

ก่อนจะรู้กันถึงเรื่องแผลเป็น คงต้องเริ่มต้นที่ ‘แผล’ ที่ผิวกันก่อน ซึ่งเกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่ผิว เช่น การผ่าตัด การเกิดอุบัติเหตุ การป่วยเป็นโรคที่มีอาการทางผิวหนัง (อาทิ อีสุกอีใส) หรือเป็นสิว

ไม่ว่าแผลจะเกิดจากสาเหตุใด แผลจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ชนิดด้วยกัน ประกอบไปด้วย ‘แผลถลอก’ เป็นแผลตื้นๆ ที่เกิดความเสียหายอยู่เพียงบริเวณผิวหนังบนสุดหรือผิวชั้นหนังกำพร้า แผลที่เกิดขึ้นจึงหายง่าย หายเร็ว และมองแทบไม่เห็นร่องรอยของแผล

แผลชนิดที่สอง เรียกว่า ‘แผลฉีกขาด’ จะเป็นแผลที่มองเห็นได้ชัดเจนว่า ผิวหนังมีการฉีกขาด ทำให้เกิดการแยกของเนื้อเยื่อในผิว หากลงลึกไปยังชั้นหนังแท้หรือผิวชั้นกลาง และชั้นไขมันหรือชั้นที่อยู่ลึกที่สุด อาจหมายถึง แผลมีความรุนแรงมาก จะหายช้า มีโอกาสกลายเป็นแผลเป็นที่เห็นได้ชัดเจน

และแผลอีกชนิด คือ ‘แผลฟกช้ำ’ หมายถึง แผลที่ผิวหนังชั้นบนสุดไม่มีการฉีกขาดหรือแตกแยก แต่จะปรากฏเป็นรอยเขียว ม่วง แดง หรือเรียกว่า อาการฟกช้ำ เนื่องจากมีเลือดคั่งอยู่ใต้ผิวหนัง มักเกิดจากการถูกกระแทกหรือบีบรัดที่ผิวหนัง แต่แผลฟกช้ำนี้เมื่อหายจะไม่ทิ้งร่องรอยไว้

นับตั้งแต่ผิวบาดเจ็บ จะเกิดการอักเสบราว 3-7 วัน หลังจากนั้นผิวหนังก็จะเริ่มการเยียวยาตัวเองตามธรรมชาติ โดยระหว่างที่เกิดแผล น้ำในผิวจะระเหยออกไปมากกว่าปกติ ส่งให้ผิวหนังบริเวณนั้นขาดความชุ่มชื้น กระทบไปถึงกระบวนการสร้างคอลลาเจนที่เพิ่มมากขึ้นเกินควร โดยคอลลาเจนที่มากเกินไปนี่เอง ทำให้เกิดการเรียงตัวที่ไร้ระเบียบ จึงเป็นที่มาของ ‘แผลเป็น’ (Scar) บางครั้งยังสามารถกล่าวได้ว่า แผลเป็น เกิดจากกระบวนการซ่อมแซมผิวหนังที่ไม่สมบูรณ์นั่นเอง

เมื่อเกิดแผลเป็นขึ้นมาแล้ว หากสังเกตดูจะเห็นว่า แผลเป็นแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน นั้นเป็นเพราะ แผลเป็น มีหลายแบบ นิยมแบ่งไว้ 3 แบบด้วยกัน คือ…

Pitted  Scar

1.แผลเป็นแบบหลุม หรือ Pitted Scar รอยแผลเป็นจะมีลักษณะเป็นหลุม เนื่องจากเนื้อเยื่อผิวถูกทำลายลงไปลึก จนไม่สามารถสร้างชั้นผิวได้เหมือนเดิม มักเกิดขึ้นจากพฤติกรรมชอบบีบสิว แกะสิว กดสิว การเจาะ หรือฉีดยาบ่อยๆ

Hypertrophic Scar

2.แผลเป็นแบบนูน หรือ Hypertrophic Scar แผลจะมีสีแดงหรือชมพู และนูนขึ้นกว่าผิวหนังปกติที่อยู่รอบๆ แต่รอยแผลยังอยู่ในขอบเขตของรอยแผลที่เกิดจากการบาดเจ็บหรือฉีกขาดของแผลเดิม บางคนอาจเกิดอาการ เจ็บ คัน บริเวณแผลด้วย

Keloid

3.แผลเป็นนูนที่ขยายตัว หรือ Keloid ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับแบบ Hypertrophic Scar แต่แบบ Keloid นั้น แผลจะนูนและขยายตัวกว้างขึ้นจากรอยแผลเดิม สรุปคือ ทั้งนูนและใหญ่ขึ้น มักเกิดจากการถูกของมีคมบาด แผลผ่าตัดต่างๆ แผลไฟไหม้-น้ำร้อนลวก แผลจากการเจาะ การสัก แผลฉีดวัคซีน-ปลูกฝี บางคนอาจเกิดอาการ เจ็บ คัน บริเวณแผลด้วย

ไม่ว่าแผลเป็นจะมีลักษณะนูนหรือเป็นหลุม ก็ทำให้ผิวหนังไม่เรียบเนียน ยิ่งหากเกิดขึ้นที่ใบหน้า หรือบริเวณที่มองเห็นได้ชัดเจน ยิ่งดูไม่ดีเข้าไปใหญ่ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ควรต้องหาวิธีรักษาแผลเป็นเหล่านี้

การรักษาแผลเป็นนูน 

มีด้วยกันหลายวิธี ทั้งการใช้ ‘แผ่นซิลิโคน’ ปิดทับแผล หรือ การใช้ซิลิโคนเจล ทาบริเวณแผล ซึ่งยาเหล่านี้มีส่วนประกอบสำคัญอย่าง โพลีเมอร์ ช่วยป้องกันการระเหยของน้ำจากผิวหนังสู่บรรยากาศ ทำให้เพิ่มความชุ่มชื้นแก่เซลล์ผิวหนัง ฟื้นฟูสภาพแผลให้จางและยุบตัวลง แต่การปิดแผ่นซิลิโคนเป็นวิธีที่ไม่เหมาะกับแผลเป็นนูนที่มีบนใบหน้า เนื่องจากเห็นได้ชัด และไม่เหมาะกับปิดแผลบริเวณผิวหนังหรือข้อต่อที่เคลื่อนไหว เพราะทำให้ไม่สะดวกในการขยับร่างกายและหลุดง่าย

แต่ปัจจุบันมี ‘ซิลิโคน เจล’ วิวัฒนาการทางการแพทย์เข้ามาแก้ไขปัญหาความไม่สะดวกของแผ่นซิลิโคนแล้ว โดยใช้ทาหลังจากแผลแห้งสนิท ไม่เว้นแม้ใบหน้า เพราะเนื้อเจลบางเบา ไม่มีสี เมื่อทาลงไปแล้วผิวจะถูกเคลือบไว้คล้ายแผ่นฟิล์มเคลือบทับ ทำให้สะดวกในการทาที่หน้า หรือบริเวณข้อต่อที่เคลื่อนไหว

วิธีต่อมา ‘ฉีดยาด้วยยาสเตียรอยด์’ ลดการอักเสบของการเกิดเป็นแผลเป็นนูน ฉีดเฉพาะที่เข้าไปในแผลเป็นโดยตรง เพื่อลดการอักเสบ แต่ก็อาจทำให้เจ็บได้พอสมควรในระหว่างการฉีดยา แพทย์มักแนะนำให้ฉีดแผลเป็นนี้ในช่วงระยะประมาณไม่เกิน 1 ปีแรก และส่วนใหญ่จะฉีดประมาณ 4-6 อาทิตย์ต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของยา

หรือจะเป็นวิธี ‘ผ่าตัด’ เพื่อตัดแผลเป็นที่นูนออกไปทั้งหมดหรือเพียงแค่ลดขนาดลงบางส่วนแล้วไปรักษาร่วมกับวิธีอื่นๆ ในวิธีการผ่าตัด หากไม่ใช้มีดหมอ ก็อาจเลือกใช้ ‘เลเซอร์ CO2’ ซึ่งเปรียบเสมือนมีดผ่าตัดที่ไม่ทำให้เกิดเลือดไหลออกจากผิวหนัง แต่การผ่าตัดไม่ใช่คำตอบของทุกราย บางรายผ่าตัดแล้วแผลเป็นใหญ่กว่าเดิม อันนี้ต้องให้แพทย์ศัลยกรรมตกแต่งพิจารณาเป็นรายๆไป

 การรักษาแผลเป็นแบบหลุม  ก็มีหลายวิธีเช่นกัน ตั้งแต่ขัดด้วยเกล็ดอัญมณีง่ายหรือที่เรียกว่า?Microdermabrasion ซึ่งสำหรับหลุมอาจไม่ค่อยได้ผลเท่าไร เพราะเป็นการลอกเซลล์ชั้นขี้ไคลออกเท่านั้น ต่อมาที่เห็นผลเร็วทันใจไม่ต้องรอ คือ การฉีดFiller  คือการฉีดสารเติมเต็มเพื่อแก้ไขปัญหารอยบุ๋มหรือหลุม เพื่อให้สารสังเคราะห์ซึ่งเลียนแบบธรรมชาติเข้าไปดูดน้ำในร่างกายเราเป็นพันเท่า ทำให้บวมโต ผิวหนังเต่งตึงหรือนูนขึ้นมา แต่เป็นวิธีที่แก้ปัญหาได้ไม่ถาวรและแอบเจ็บจนน้ำตาไหล ส่วนวิธีต่อมาคือการทำ Dermaroller อันนี้ก็เป็นวิธีที่ค่อนข้างเจ็บตัว และ ไม่นิยมแล้วในปัจจุบันแล้ว เพราะเลือดออกมากและโอกาสติดเชื้อง่าย วิธีนี้ทำโดยการใช้ลูกกลิ้งเข็ม ขนาด กว้าง 0.25 mm. ยาว 1.5 mm. ไถลงบนใบหน้า ให้เป็นรูเล็กๆแล้วเติมสารอาหารเสริม วิตามิน คอลลาเจนลงไป เชื่อว่าทำให้อาหารผิว เข้าสู่ผิวได้ดีกว่าปกติ 40 เท่า ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ทำให้หลุมเต็มขึ้น วิธีนี้ก็คล้ายๆ การทำเลเซอร์รักษาหลุมสิว แต่ใช้มือคนทำ ความละเอียดน้อยกว่า แต่ราคาสบายกระเป๋ากว่ามากคะ

ต่อมาสำหรับผู้ที่มีงบมากหน่อย อยากได้ผลดีอยู่ได้นาน ต้องใช้ ‘เลเซอร์’ เข้ามาช่วยแก้ไข ซึ่งมีทั้งเลเซอร์ Ablative Laser และ Non- Ablative laser คือ กลุ่มเลเซอร์ที่ทำลายชั้นหนังกำพร้าและไม่ทำลายชั้นหนังกำพร้าตามลำดับ ฟังดูแล้วอาจจะงงหน่อยว่ามันคืออะไร แปลเป็นภาษาไทยง่ายๆคือ การรักษาหลุมสิวด้วยเลเซอร์ กลุ่ม ablative ก็เหมือนการเอาเลเซอร์ ปาดพื้นผิวหนังหน้าบนให้เรียบ เสมือนการปาดหน้าเค็ก ทำให้หลังทำผิวจะมีรอยแดง แสบร้อน แต่ไม่มีเลือดออก หลังทำไปสัก 2-3 วันจะตกสะเก็ดและใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ หน้าถึงจะเข้าสู่ภาวะเป็นปกติ ตอนนี้เลเซอร์กลุ่ม ablative ที่นิยมใช้รักษาหลุมสิวก็จะมี  Fractional CO2 Laser , Er:YAG Laser ซึ่งได้ผลดีและเร็วเลยทีเดียว แต่ต้องทนไม่สวยประมาณ 1 อาทิตย์ ส่วนเลเซอร์กลุ่ม non-ablative  นั่น ไม่ทำลายพื้นผิวหนังด้านบน ดังนั้นหลังทำไม่ต้องพักหน้ามาก อาจมีรอยแดงน้อยๆ แต่ไม่มีสะเก็ด ไม่มีแผล ใช้หลักการปล่อยลำแสงเลเซอร์ไปยังผิวชั้นลึกโดยไม่ทำลายผิวหนังกำพร้าด้านบน ทำให้ผิวชั้นลึกถูกกระตุ้นด้วยแสงเลเซอร์ จึงเกิดการเหนี่ยวนำกระตุ้นทำให้เกิดการสร้างคอลลาเจนเพิ่มขึ้น ทำให้หลุมกลับมาเต็มดังเดิม เลเซอร์ในกลุ่มนี้คือ Fraxel Laser , Fine Scan Laser 

แสงเลเซอร์ในกลุ่มเหล่านี้จะให้อนุภาคขนาดเล็กๆมากๆ เพื่อทำลายเซลล์ที่ผิดปกติ ในตำแหน่งที่เล็กมากๆ ที่ตาเปล่ามองไม่เห็น หลังจากนั้นเซลล์ผิวดีๆข้างเคียงก็จะเหนี่ยวนำ ทำให้เกิดการสร้างเซลล์ใหม่ที่ดีต่อไป หลักการเหมือนเป็นการรีทัชแก้ไข ตกแต่งภาพในจอคอมพิวเตอร์ ที่แก้ไขจุดบกพร่องอย่างละเอียด ทีละพิกเซล ทำให้ภาพออกมาสวยตามต้องการ วิธีนี้นอกจากทำให้หลุมสิวตื้นขึ้นแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการสร้างเส้นใย collagen, elastin ได้อีกด้วย ทำให้นอกจากตอบโจทย์ปัญหาเรื่องรูขุมขนกว้างแล้วยังแก้ปัญหาเรื่องริ้วรอยได้ดีด้วยคะ ใครหน้าหยาบ รูขุมขนใหญ่ก็หมดปัญหาแล้วคะ

 

บทความโดย พญ.ธวลิดา เวชชวณิชย์ แพทย์หัวหน้าศูนย์ความงาม รพ.พญาไท 1
E-mail : bangkokbeautyclinic@gmail.com
Hotline : 086-4656031